การวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ
คำอธิบายและวิเคราะห์ฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงาน สำหรับปี 2562
สรุปบทวิเคราะห์ของผู้บริหาร
ในภาพรวมของผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัท เชาว์ สตีล อินดัสทรี้ จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2562 สามารถวิเคราะห์แยกตามประเภทธุรกิจดังนี้
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ในปี 2562 เป็นปีที่บริษัทได้เริ่มขยายธุรกิจไปให้บริการรับจ้างผลิตเหล็ก (OEM) กับลูกค้ารายหนึ่งตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2562 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตามบริษัทและผู้ว่าจ้างได้ดำเนินการปรับปรุง พัฒนากระบวนการผลิตของโรงงาน และพัฒนาเครื่องจักรเดิมและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในโรงงานเฟสที่ 2 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 ต่อมาบริษัทได้ทำการทดสอบสภาพเครื่องจักร และ กระบวนการผลิต ตลอดจนกระบวนการบำบัดสภาพสิ่งแวดล้อมซึ่งได้มีการปรับปรุงใหม่ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ซึ่งตามแผนการคาดว่าการทดสอบสภาพเครื่องจักรจะแล้วเสร็จได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 และจะสามารถเดินเครื่องจักรเพื่อให้บริการรับจ้างผลิตเหล็กได้อย่างเต็มที่ในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2563
สถานการณ์ราคาขายเหล็ก (billets) ในประเทศไทยในปีปัจจุบัน ยังคงปรับตัวลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกยังคงถูกกดดันทำให้ราคาขายเหล็กในประเทศไทยยังไม่สามารถปรับเพิ่มขึ้นได้
ธุรกิจพลังงานทดแทน
ในปี 2562 กลุ่มบริษัทได้มีการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในระหว่างปีบริษัทประสบความสำเร็จในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองอาโอโมริ ประเทศญี่ปุ่น และเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เพิ่มอีก 1 โครงการ โดยโครงการดังกล่าวมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งรวม 7.21 เมกะวัตต์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 67.12 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโครงการที่อยู่ในประเทศไทย 6.62 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นอีก 60.50 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับปี 2561 ซึ่งกลุ่มบริษัทมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งเพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์รวมทั้งสิ้น 65.77 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นกลุ่มบริษัทยังมองหาโอกาสในการขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในระหว่างปีบริษัทได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ และ อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศออสเตรเลีย
ในระหว่างปีบริษัทได้มีการขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นรวมทั้งสิ้น 5 โครงการซึ่งมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งรวม 5.86 เมกะวัตต์ ซึ่งการขายโครงการไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามแผนกลยุทธ์ในการสร้างรายได้และผลประโยชน์สูงสุดให้แก่กลุ่มบริษัท
รายได้จากการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในปี 2562 สูงกว่าปี 2561 อันเนื่องมาจากปริมาณความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สูงกว่าปี 2561 บริษัท
ในระหว่างปีบริษัทย่อยแห่งหนึ่งได้ให้บริการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้แก่ ลูกค้าในประเทศหลายโครงการ และได้ติดตั้งระบบดังกล่าวแล้วเสร็จจึงทำให้มีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้น
ธุรกิจขนส่ง
เนื่องจากธุรกิจขนส่งที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการส่งสินค้าให้แก่บริษัทที่ประกอบกิจการธุรกิจเหล็ก สืบเนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่กดดันทำให้ราคาเหล็กในประเทศไทยไม่สามารถแข่งขัน ประกอบกับบริษัทที่ประกอบธุรกิจเหล็กนั้นได้ชะลอการผลิตและเริ่มให้บริการรับจ้างผลิตแก่ลูกค้า อีกทั้งยังมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตและพัฒนาเครื่องจักรเดิมและติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในโรงงานเฟส ทำให้ปริมาณการขนส่งเหล็กเพื่อสนับสนุนธุรกิจเหล็กนั้นลดลงในปีปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม บริษัทย่อยได้นำรถขนส่งไปให้บริการแก่ลูกค้ารายใหม่ๆ เช่น ธุรกิจปูนซีเมนต์ ธุรกิจปุ๋ยเคมีภัณฑ์ อีกทั้งยังเป็นผลดีต่อธุรกิจในการสร้างฐานลูกค้าเพิ่มเติม
การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานรวม
การวิเคราะห์ผลการดำเนินงานเปรียบเทียบสำหรับปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 2561 สรุปได้ดังนี้
ผลการดำเนินงานสำหรับปี | 2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
---|---|---|---|---|
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
รายได้จากการขายและบริการ – ธุรกิจเหล็ก | 572.08 | 3,077.84 | (2,505.76) | (81.41%) |
รายได้จากการบริการ – ธุรกิจขนส่ง | 8.62 | 4.30 | 4.32 | 100.47% |
รายได้จากการขายและบริการ – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 753.29 | 981.84 | (228.55) | (23.28%) |
กำไรจากการขายโครงการโรงไฟฟ้า – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 97.71 | 214.51 | (116.80) | (54.45%) |
รายได้ดอกเบี้ย | 7.05 | 8.25 | (1.20) | (14.55%) |
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน | 90.28 | - | 90.28 | 100% |
รายได้อื่น | 25.16 | 23.00 | 2.16 | 9.39% |
รวมรายได้ | 1,554.19 | 4,309.74 | (2,755.55) | (63.94)% |
ต้นทุนขายและบริการ – ธุรกิจเหล็ก | 581.53 | 3,093.45 | (2,511.92) | (81.20%) |
ต้นทุนบริการ – ธุรกิจขนส่ง | 16.37 | 27.53 | (11.16) | (40.54%) |
ต้นทุนขายและบริการ – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 495.47 | 583.48 | (88.01) | (15.08%) |
รวมต้นทุนขาย | 1,093.36 | 3,704.46 | (2,611.10) | (70.49%) |
กำไรขั้นต้น | 460.83 | 605.28 | (144.45) | (23.86%) |
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร – ธุรกิจเหล็ก | 114.18 | 109.37 | 4.81 | 4.40% |
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร – ธุรกิจขนส่ง | 5.91 | 3.20 | 2.71 | 84.60% |
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 106.95 | 146.85 | (39.90) | (27.17%) |
ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน | - | 20.28 | (20.28) | (100%) |
ต้นทุนทางการเงิน – ธุรกิจเหล็ก | 130.48 | 129.25 | 1.23 | 0.95% |
ต้นทุนทางการเงิน – ธุรกิจขนส่ง | 0.74 | 1.03 | (0.29) | (28.25%) |
ต้นทุนทางการเงิน – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 288.83 | 284.12 | 4.71 | 1.66% |
รวมค่าใช้จ่าย | 647.09 | 694.10 | (47.01) | (6.77%) |
กำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงาน | (186.26) | (88.82) | (97.44) | 109.71% |
ภาษีเงินได้ | (10.13) | (19.02) | 8.89 | 46.74% |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ – ธุรกิจเหล็ก | (249.79) | (224.69) | (25.10) | 11.17% |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ – ธุรกิจขนส่ง | (14.78) | (27.88) | 13.10 | (46.99%) |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ – ธุรกิจพลังงานทดแทน | 68.18 | 144.73 | (76.55) | (52.89%) |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิ | (196.39) | (107.84) | (88.55) | (82.11%) |
- ส่วนของบริษัทใหญ่ | (198.26) | (122.15) | (76.11) | 62.31% |
- ส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุม | 1.87 | 14.31 | (12.44) | (86.93%) |
กำไร (ขาดทุน) สุทธิต่อหุ้น | (0.25) | (0.15) | (0.10) | 66.67% |
รายได้จากการขายและให้บริการ
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
รายได้จากการขายและให้บริการสำหรับปี 2562 มียอดรวม 572.08 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 2,505.76 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.41 ซึ่งสามารถวิเคราะห์รายการได้ดังนี้
รายได้ – ธุรกิจเหล็ก | 2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
---|---|---|---|---|
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
รายได้จากการขาย | 476.67 | 3,077.84 | (2,601.17) | (84.51%) |
รายได้จากการให้บริการ | 95.41 | - | 95.41 | 100% |
รวม | 572.08 | 3,077.84 | (2,505.76) | (81.41%) |
รายได้การจำหน่ายเหล็กมีจำนวน 476.67 ล้านบาทซึ่งลดลง 2,601.17 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 84.51 จากปีที่ผ่านมาการขายที่ลดลงนั้นเนื่องจากบริษัทหยุดกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานเฟส 1 และ 2 ในระหว่างปีปัจจุบัน เพื่อเตรียมพื้นที่และรองรับการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM)
บริษัทมีรายได้จากการให้บริการ OEM ในงวดปัจจุบันรวม 95.41 ล้านบาท ซึ่งเป็นการให้บริการรับจ้างผลิตและให้บริการในระหว่างช่วงครึ่งปีแรก บริษัทไม่ได้รับคำสั่งการผลิตในครึ่งปีหลัง เนื่องจากบริษัทอยู่ระหว่างการปรับปรุงและพัฒนาเครื่องจักรในโรงงานเฟสที่ 2 จนสามารถเริ่มกระบวนการทดสอบสภาพเครื่องจักรและกระบวนการผลิตได้ในเดือนธันวาคม 2562 และคาดว่าจะทดสอบสภาพเครื่องจักรแล้วเสร็จจนสามารถเริ่มให้บริการ OEM ในปลายไตรมาสที่ 1 ปี 2563
ธุรกิจขนส่ง
รายได้จากการให้บริการขนส่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 4.32 ล้านบาททั้งนี้เนื่องจากบริษัทย่อยได้หาลูกค้ารายใหม่ๆ เพื่อให้บริการในการขนส่ง ในช่วงระหว่างที่บริษัทแม่อยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงงานการผลิต
ธุรกิจพลังงานทดแทน
รายได้รวมสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 753.29 ล้านบาท ลดลง 228.55 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 23.28 เมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้รวมประกอบด้วย :
รายได้ – ธุรกิจพลังงาน | 2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
---|---|---|---|---|
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
รายได้จากการขาย | 746.57 | 980.07 | (233.50) | (23.82%) |
- ขายไฟฟ้า | 746.57 | 702.28 | 44.29 | 6.31% |
- ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า | - | 277.79 | (277.79) | (100%) |
รายได้จากการให้บริการ | 6.72 | 1.77 | 4.95 | 279.66% |
รวม | 753.29 | 981.84 | (228.55) | (23.28%) |
รายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้าในปัจจุปันมีจำนวน 746.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 44.29 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าแห่งใหม่จำนวน 1 โครงการในปี 2562 และ 4 โครงการในปี 2561 ที่สามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ ตามรายละเอียดดังนี้
- โครงการอาโอโมริ – เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 7.21 เมกะวัตต์ ดังนั้นบริษัทจึงสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็ม 3เดือนในช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม 2562
- โครงการ IWAKI – เริ่มจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน เมษายน 2561 โดยโครงการนี้มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งอยู่ที่ 26.68 เมกะวัตต์ ดังนั้นบริษัทจึงสามารถรับรู้รายได้จากการจำหน่ายไฟฟ้าได้เต็ม 12 เดือนในปีปัจจุบัน
- โครงการ ฟูกุย 1,5,6 – ซึ่งจำหน่ายกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิช์ได้ทั้งหมดในเดือนตุลาคม 2561 โดยทั้ง 3 โครงการมีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าติดตั้งรวม 4.84 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตาม กลุ่มบริษัทได้ขายโครงการโรงไฟฟ้าทั้ง 3โครงการดังกล่าวในปลายไตรมาสที่ 1 ปีปัจจุบันแล้ว
กลุ่มบริษัทไม่มีรายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับโรงไฟฟ้าในปีปัจจุบัน
นอกจากนี้กลุ่มบริษัทมีรายได้จากการให้บริการเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดก่อน จำนวน 4.95 ล้านบาท เนื่องจากกลุ่มบริษัทสามารถเพิ่มการให้บริการติดตั้งระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยได้เพิ่มขึ้นในปีปัจจุบัน
กำไรจากการขายโครงการโรงไฟฟ้า
ธุรกิจพลังงานทดแทน
กลุ่มบริษัทมีกำไรจากการขายโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นตามแผนธุรกิจในระหว่างงวดเป็นจำนวน 97.71 ล้านบาท อันเนื่องมาจากการจำหน่ายโรงไฟฟ้าทั้งหมด 5 โครงการรวมกำลังการผลิตติดตั้ง 5.85 เมกะวัตต์ โดย 4 โครงการจำหน่ายในไตรมาสที่ 1 ปี 2562 และอีก 1 โครงการจำหน่ายในไตรมาสที่ 2 ปีปัจจุบัน ในขณะที่กลุ่มบริษัทได้จำหน่ายโครงการไฟฟ้าจำนวน 2โครงการในปี 2561 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 4.02 เมกะวัตต์ และ 12 เมกะวัตต์ ตามลำดับ โดยมีกำไรจากการจำหน่ายทั้งสิ้น 214.51 ล้านบาท
กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
กลุ่มบริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนในระหว่างปีปัจจุบันรวม 90.28 ล้านบาทซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 110.56 ล้านบาท ทั้งนี้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนส่วนใหญ่เกิดจากการแปลงค่าอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินของธุรกิจพลังงานทดแทน
ต้นทุนขายและให้บริการ
ต้นทุนขายและบริการของกลุ่มบริษัทประจำปี 2562 มียอดรวมทั้งสิ้น 1,093.36 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 2,611.10 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 70.49 การลดลงดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ต้นทุนขายและต้นทุนบริการของธุรกิจเหล็กในงวดปัจจุบันจำนวน 581.53 ล้านบาทซึ่งลดลงจากปีที่ผ่านมาเป็นจำนวน 2,511.92 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 81.2 ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณการขายเหล็กของบริษัทเมื่อเทียบกับปีก่อนน้อยลง อันเป็นสาเหตุจากราคาตลาดของเหล็กในประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ อีกทั้งบริษัทได้หยุดกระบวนการผลิตสำหรับโรงงานเฟส 1 และ 2 ในระหว่างปีปัจจุบัน เพื่อเตรียมพื้นที่และรองรับการเป็นผู้รับจ้างผลิต (OEM) บริษัทได้เริ่มทดสอบสภาพเครื่องจักรจากการปรับปรุง พัฒนาเครื่องจักรและกระบวนการผลิตตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 บริษัทคาดว่าการทดสอบดังกล่าวจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 1 ปี 2563
ธุรกิจพลังงานทดแทน
ต้นทุนขายและบริการของธุรกิจพลังงานทดแทนลดงจากปีที่ผ่านมา 88.01 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 15.06 ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
รายได้ – ธุรกิจพลังงาน | 2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | |
---|---|---|---|---|
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
ต้นทุนขาย | 491.36 | 580.23 | (88.87) | (15.32%) |
- ขายไฟฟ้า | 491.36 | 423.10 | 68.26 | 16.13% |
- ขายอุปกรณ์เกี่ยวกับโรงไฟฟ้า | - | 157.13 | (157.13) | (100%) |
ต้นทุนการให้บริการ | 4.11 | 3.25 | 0.86 | 26.46% |
รวม | 495.47 | 583.48 | (88.01) | (15.08%) |
ต้นทุนการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เกิดจากจำนวนโครงการและกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าในปีปัจจุบันมากกว่าปีที่ผ่านมา เช่น โครงการอาโอโมริ ซึ่งก่อสร้างเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2562 โครงการอิวากิ ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในระหว่าง ไตรมาสที่ 2 ปี 2561 ดังนั้น จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายต้นทุนโครงการในปีปัจจุบันเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา
ต้นทุนการขายอุปกรณ์ลดลงจากปีที่ผ่านมา 157.13 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมิได้มีการจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าในงวดปัจจุบัน
ต้นทุนการให้บริการเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากบริษัทย่อยแห่งหนึ่งให้บริการติดตั้งระบบผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นในระหว่างปี
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารของกลุ่มบริษัทในปีปัจจุบันมีทั้งสิ้น 227.04 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อนสุทธิ 32.38 ล้านบาท ซึ่งสามารถวิเคราะห์แยกตามแต่ละประเภทธุรกิจที่สำคัญได้ดังนี้
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ในปีปัจจุบันธุรกิจเหล็กมีค่าใช้จ่ายในการบริหารรวมทั้งสิ้น 114.18 ล้านบาท ซึ่งประกอบไปด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการดำเนินการปรับโครงสร้างพนักงานและเตรียมการผลิต OEM ที่สำคัญดังนี้
- บริษัทได้ทำการปรับโครงสร้างพนักงานลดลง จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายชดเชยให้แก่พนักงานเป็นจำนวนเงิน 19.65 ล้านบาท
- บริษัทได้ตั้งสำรองผลประโยชน์ตอบแทนพนักงานเมื่อเกษียณอายุเพิ่มในระหว่างงวด 1.4 ล้านบาท เนื่องจากมีการเปลี่ยนกฎหมายแรงงาน
- บริษัทได้หยุดกระบวนการผลิตของโรงงานเฟสที่ 1 และ 2 เป็นการชั่วคราวเพื่อปรับปรุงเครื่องจักรและสถานที่ผลิตสินค้าใหม่เพื่อรองรับธุรกิจการให้บริการรับจ้างเป็นผู้ผลิต ดังนั้นจึงมีค่าเสื่อมราคาและค่าใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกเป็น จำนวน 36.97 ล้านบาท ซึ่งแสดงอยู่ในค่าใช้จ่ายในการบริหาร
ธุรกิจพลังงานทดแทน
ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารในธุรกิจพลังงานทดแทนลดลงจากปีที่ผ่านมารวม 39.90 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 27.17 ทั้งนี้เนื่องจากการบริหารค่าใช้จ่ายของฝ่ายบริหารที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการบริหารได้มากยิ่งขึ้นเช่น ค่าที่ปรึกษาวิชาชีพต่างๆ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน เป็นต้น
ต้นทุนทางการเงิน
ต้นทุนทางการเงินของกลุ่มบริษัทในงวดปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 420.05 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีก่อนมีจำนวน 414.40 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 5.65 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 1.36 ในระหว่างปีบริษัทกู้เงินเพิ่มจากโครงการใหม่ที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จนสามารถจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ คือ โครงการอาโอโมริ
งบแสดงฐานะการเงินรวม
สินทรัพย์
งบแสดงฐานะการเงิน | งบการเงินรวม | |||
---|---|---|---|---|
2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | ||
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
สินทรัพย์ | ||||
สินทรัพย์หมุนเวียน | ||||
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด | 107.24 | 1,140.76 | (1,033.52) | (90.60%) |
เงินฝากธนาคารที่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้ | 272.19 | 288.07 | (15.88) | (5.51%) |
ส่วนของเงินฝากธนาคารที่มีภาระค้ำประกันที่ถึงกำหนดไถ่ถอนภายในหนึ่งปี | 570.32 | 627.92 | (57.60) | (9.17%) |
ลูกหนี้การค้าและลูกหนี้อื่น | 501.25 | 518.25 | (17.00) | (3.28%) |
สินค้าคงเหลือ | 409.79 | 765.98 | (356.19) | (46.50%) |
ลูกหนี้กรมสรรพากร | 191.08 | 298.99 | (107.91) | (36.09%) |
สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น | 67.00 | 44.62 | 22.38 | 50.16% |
2,118.88 | 3,684.59 | (1,565.71) | (42.49%) | |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขาย | - | 46.77 | (46.77) | (100.00%) |
รวมสินทรัพย์หมุนเวียน | 2,118.88 | 3,731.37 | (1,612.49) | (43.21%) |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน | ||||
เงินฝากธนาคารที่มีภาระค้ำประกัน - สุทธิจากส่วนที่ถึงกำหนดภายในหนึ่งปี | 286.10 | 715.97 | (429.87) | (60.04%) |
อสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน | 22.15 | 22.89 | (0.74) | (3.23%) |
ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ | 6,271.31 | 7,029.46 | (758.15) | (10.79%) |
สินทรัพย์ไม่มีตัวตน | 1,483.75 | 1,591.33 | (107.58) | (6.76%) |
สินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี | 8.59 | 7.25 | 1.34 | 18.48% |
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนอื่น | 90.23 | 106.19 | (15.96) | (15.03%) |
รวมสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน | 8,162.12 | 9,473.10 | (1,310.98) | (13.84%) |
รวมสินทรัพย์ | 10,281.00 | 13,204.47 | (2,923.47) | (22.14%) |
สินทรัพย์รวม
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 10,281.00 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา จำนวน 2,923.46 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 22.14 โดยสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีสินทรัพย์รวม 13,204.47 ล้านบาท การลดลงสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
สินทรัพย์หมุนเวียน
สินทรัพย์หมุนเวียน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ลดลงจากปีที่ผ่านมารวม 1,612.49 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.21 การลดลงที่สำคัญเกิดจาก
เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินฝากธนาคารที่มีข้อจำกัดในการเบิกใช้ ส่วนของเงินฝากธนาคารที่มีภาระค้ำประกัน
ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1,107.00 ล้านบาทเนื่องจากกลุ่มบริษัทได้นำเงินไปชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น และ เงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินและบุคคลอื่นในระหว่างปี
สินค้าคงเหลือ
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ยอดสินค้าคงเหลือ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ลดลงสุทธิเป็นจำนวน 356.19 ล้านบาท เนื่องจากมีการขายสินค้าให้แก่ลูกค้าในระหว่างปี และบริษัทกลับรายการค่าเผื่อมูลค่าราคาสินค้าเป็นจำนวน 24.90 ล้านบาท
ลูกหนี้กรมสรรพากร
ลูกหนี้กรมสรรพากรลดลงเป็นจำนวน 107.91 ล้านบาท เนื่องมาจากกรมสรรพากรได้คืนภาษีบริโภคให้แก่ธุรกิจโรงไฟฟ้าในระหว่างปีเป็นจำนวนเงินรวม 78 ล้านบาท
การลดลงของลูกหนี้กรมสรรพากรที่เหลือเกิดจากการภาษีซื้อที่บริษัทได้ชำระไว้เกิน
สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 สินทรัพย์หมุนเวียนอื่นเพิ่มขึ้น 22.38 ล้านบาท จากยอด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 การเพิ่มขึ้นมีสาเหตุหลักๆ ดังต่อไปนี้
- กลุ่มบริษัทพลังงานได้จ่ายชำระค่าที่ปรึกษาความเป็นไปได้ของโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอนาคต 10 ล้านบาท
- กลุ่มธุรกิจพลังงานได้จ่ายชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลล่วงหน้า ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายเพิ่มจากปีที่แล้ว 5 ล้านบาท
- กลุ่มธุรกิจพลังงานได้ชำระค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าสำหรับประกันภัยโครงการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 3 ล้านบาท
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขาย
บริษัทได้ขายโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศญี่ปุ่นแล้วเสร็จในปีปัจจุบัน
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 8,162.12 ล้านบาท ลดลงจากปีที่ผ่านมา 1,310.98 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.84 การลดลงที่สำคัญเกิดจาก
เงินฝากสถาบันการเงินที่ติดภาระค้ำประกัน
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เงินฝากสถาบันการเงินที่ติดภาระค้ำประกันลดลง 429.87 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทได้ขายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 5 โครงการในระหว่างปีปัจจุบันตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท และบริษัทได้นำเงินที่ได้รับจากการขายโครงการชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมธนาคารที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้าทั้ง 5 โครงการดังกล่าวทั้งจำนวน
ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ และ สินทรัพย์ไม่มีตัวตน
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ที่ดินอาคารและอุปกรณ์และสินทรัพย์ไม่มีตัวตน มียอดคงเหลือลดลงจากปีที่ผ่านมารวมทั้งสิ้น 865.73 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้
- ลงทุนเพิ่มสำหรับโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นและปรับปรุงโรงงานเพื่อรองรับการให้บริการผลิตของธุรกิจเหล็ก OEM จำนวนรวม 361.68 ล้านบาท
- ขายโครงการโรงไฟฟ้าจำนวน 5 แห่งตามแผนกลยุทธ์ของบริษัท ยอดลดลงสุทธิ 423.97 ล้านบาท
- ลดลงจากค่าเสื่อมราคา 393.48 ล้านบาท และ มีผลกระทบจากการแปลงค่างบการเงิน 409.98 ล้านบาท
หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น
งบแสดงฐานะการเงิน | งบการเงินรวม | |||
---|---|---|---|---|
2562 | 2561 | เปลี่ยนแปลง | ||
ล้านบาท | ล้านบาท | ล้านบาท | % | |
หนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น | ||||
หนี้สินหมุนเวียน | ||||
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน | 190.58 | 917.67 | (727.09) | (79.23%) |
เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลและกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกัน | 219.49 | 1,478.91 | (1,259.42) | (85.16%) |
เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น | 327.31 | 250.47 | 76.84 | 30.68% |
ส่วนของเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี | 2,166.53 | 3,336.41 | (1,169.88) | (35.06%) |
ภาษีเงินได้ค้างจ่าย | 5.38 | 10.48 | (5.10) | (48.66%) |
เจ้าหนี้กรมสรรพากร | 58.31 | 67.11 | (8.80) | (13.11%) |
หนี้สินหมุนเวียนอื่น | 5.68 | 36.91 | (31.23) | (84.61%) |
รวมหนี้สินหมุนเวียน | 2,973.29 | 6,097.97 | (3,124.68) | (51.24%) |
หนี้สินไม่หมุนเวียน | ||||
เงินกู้ยืมระยะยาว - สุทธิจากส่วนที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปี | 6,087.72 | 5,604.74 | 482.98 | 8.62% |
สำรองผลประโยชน์ระยะยาวของพนักงาน | 14.10 | 11.65 | 2.45 | 21.03% |
ประมาณการหนี้สินสำหรับต้นทุนในการรื้อถอนสถานที่เช่า | 7.16 | 5.29 | 1.87 | 35.35% |
หนี้สินภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี | 30.90 | 32.19 | (1.29) | (4.01%) |
หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น | 19.74 | 4.04 | 15.70 | 388.61% |
รวมหนี้สินไม่หมุนเวียน | 6,159.61 | 5,657.92 | 501.69 | 8.87% |
รวมหนี้สิน | 9,132.91 | 11,755.89 | (2,622.98) | (22.31%) |
ส่วนของผู้ถือหุ้น | ||||
ทุนเรือนหุ้น | ||||
ทุนออกจำหน่ายและชำระเต็มมูลค่าแล้ว | ||||
หุ้นสามัญ 800,000,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1 บาท | 800.00 | 800.00 | - | - |
ส่วนเกินมูลค่าหุ้นสามัญ | 380.85 | 380.85 | - | - |
ส่วนต่ำกว่าทุนจากการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทย่อย | (5.52) | (5.52) | - | - |
กำไร (ขาดทุน) สะสม | ||||
จัดสรรแล้ว - สำรองตามกฎหมาย | 15.40 | 15.40 | - | - |
ยังไม่ได้จัดสรร | (31.58) | 165.48 | (197.06) | (119.08%) |
องค์ประกอบอื่นของส่วนของผู้ถือหุ้น | (123.35) | (31.37) | (91.98) | 293.21% |
ส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ | 1,035.79 | 1,324.84 | (289.05) | (21.82%) |
ส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย | 112.30 | 123.74 | (11.44) | (9.25%) |
รวมส่วนของผู้ถือหุ้น | 1,148.10 | 1,448.58 | (300.48) | (20.74%) |
รวมหนี้สินและส่วนของผู้ถือหุ้น | 10,281.00 | 13,204.47 | (2,923.47) | (22.14%) |
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 2561 กลุ่มบริษัทมีหนี้สินรวม 9,132.91 ล้านบาท และ 11,755.89 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งลดลงเป็นจำนวน 2,622.98 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ของการลดลงสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
หนี้สินหมุนเวียน
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงิน
เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินในปีปัจจุบันลดลงจากปีที่ผ่านมาทั้งสิ้น 727.09 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากธุรกิจเหล็ก และ ธุรกิจพลังงานได้จ่ายชำระคืนวงเงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากสถาบันการเงินรวมทั้งสิ้น 280.53 ล้านบาทและ 446.56 ล้านบาทตามลำดับ
เงินกู้ยืมระยะสั้นจากบุคคลและกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกัน
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
บริษัทได้จ่ายชำระคืนหุ้นกู้ระยะสั้นที่ถึงกำหนดชำระไปในระหว่างปีทั้งหมด 1,483 ล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทได้ออกหุ้นกู้ชุดใหม่ซึ่งมีอายุมากกว่า 12 เดือนจำนวน 1,140 ล้านบาท รายงานอยู่ภายใต้เงินกู้ยืมระยะยาว
ธุรกิจพลังงาน
ในระหว่างปีกลุ่มบริษัทได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินและตั๋วแลกเงินจากบุคคลและกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกันสุทธิ 219.49 ล้านบาท
เจ้าหนี้การค้าและเจ้าหนี้อื่น
เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจำนวน 76.84 ล้านบาท
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ได้รับเงินล่วงหน้าค่าสินค้า ที่ยังมิได้ส่งมอบจากลูกค้าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาสุทธิ 132.71 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม เนื่องจากธุรกิจเหล็กได้หยุดการผลิตชั่วคราวเพื่อเตรียมพื้นที่และทำการปรับปรุงพื้นที่เพื่อรองรับการบริการ OEM ดังนั้นจึงทำให้เจ้าหนี้การค้า และค่าใช้จ่ายค้างจ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการผลิตลดน้อยลงรวมสุทธิ 45.3 ล้านบาท
ธุรกิจพลังงาน
เจ้าหนี้การค้าลดลงสุทธิ 37 ล้านบาท เนื่องมาจากในปีที่ผ่านมามีเจ้าหนี้การค้าจากการซื้ออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงไฟฟ้า ที่ค้างชำระ แต่ในงวดปัจจุบันไม่มีการขายอุปกรณ์ดังกล่าวจึงทำให้ไม่มียอดค้างชำระ
ในปีปัจจุบันบริษัทมีเจ้าหนี้ค่าซื้อสินทรัพย์ถาวรซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 15 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่ายค้างจ่ายเกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในต่างประเทศเพิ่มขึ้น 10 ล้านบาท
หนี้สินหมุนเวียนอื่น
ธุรกิจพลังงาน
ยอดหนี้สินหมุนเวียนอื่นในปีปัจจุบันลดลงจากปีที่ผ่านมาจำนวน 31.23 ล้านบาท ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทได้รับเงินมัดจำค่าซื้อโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นจำนวน 70 ล้านเยน (เทียบเท่า 21 ล้านบาท) ในปี 2561 และบริษัทได้ทำการขายโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จในปี 2562
นอกจากนั้นในปี 2561 บริษัทได้มีการบันทึกรายการภาษีขายที่ยังไม่ถึงกำหนดสำหรับการขายโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จำนวน 4 โครงการ (Gifu และ Nihonmatsu 1, 2, 3 และ 4)
หนี้สินไม่หมุนเวียน
เงินกู้ยืมระยะยาว
เงินกู้ยืมระยะยาวลดลงสุทธิ 686.9 ล้านบาท ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
บริษัทได้ออกหุ้นกู้ระยะยาวที่มีกำหนดชำระในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 1,140 ล้านบาทและได้ไถ่ถอนหุ้นกู้ระยะยาวในระหว่างปีรวม 909.5 ล้านบาท สุทธิเงินกู้ยืมระยะยาวเพิ่ม 220.13 ล้านบาท
ธุรกิจพลังงาน
ในระหว่างปีบริษัทได้จ่ายชำระคืนเงินกู้ให้แก่สถาบันการเงินสุทธิ 459.85 ล้านบาท และมีผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนและการแปลงค่างบการเงินรวม 447.19 ล้านบาท
หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น
ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเหล็กแท่งยาว
ในระหว่างปีบริษัทได้รับเงินมัดจำค่าเข้าทำสัญญาว่าจ้างการผลิต OEM จากผู้ว่าจ้างเป็นจำนวน 500,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ หรือ เทียบเท่า 16.24 ล้านบาท
ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และ 31 ธันวาคม 2561 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 1,148.10 ล้านบาท และ 1,448.58 ล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งลดลงเป็นจำนวนสุทธิ 300.48 ล้านบาท ซึ่งการลดลงสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้
- ส่วนของผู้มีส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมของบริษัทย่อย ลดลง 11.44 ล้านบาท
- ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นในระหว่างปี 197.06 ล้านบาท และผลต่างจากการแปลงค่างบการเงินที่เป็นเงินตราต่างประเทศเพิ่มขึ้น 91.88 ล้านบาท
งบกระแสเงินสดรวมสำหรับปีสิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
ในต้นปีปัจจุบันบริษัทได้แสดงเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดเป็นจำนวน 1,140.76 ล้านบาท โดยมียอดกระแสเงินสดลดลงสุทธิจากทุกกิจกรรมจำนวน 1,033.52 ล้านบาทเป็นผลสุทธิจากกระแสเงินสดรับสุทธิจากกิจกรรมดำเนินงาน กิจกรรมลงทุน และกระแสเงินสดจ่ายจากกิจกรรมจัดหาเงิน ทำให้บริษัทแสดงรายการเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ วันสิ้นงวดเท่ากับ 107.24 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน
- กลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดได้มาจากกิจกรรมดำเนินงานจำนวน 360.33 ล้านบาท
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน
- กลุ่มบริษัทมีกระแสเงินสดได้มาจากกิจกรรมลงทุนจำนวน 811.94 ล้านบาท เนื่องจากการไถ่ถอนเงินฝากธนาคารที่ติดภาระค้ำประกัน การขายโครงการไฟฟ้าจำนวน 5 แห่ง เพื่อเอาไปชำระหนี้เงินกู้ยืมธนาคาร และมีการจ่ายชำระเงินเพื่อการก่อสร้างโรงไฟฟ้า
กระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงิน
- กลุ่มบริษัทมีเงินสดสุทธิใช้ไปในกิจกรรมจัดหาเงิน 2,221.94 ล้านบาท ส่วนใหญ่เกิดจากการจ่ายชำระเงินกู้ยืมธนาคาร หุ้นกู้ ตั๋วสัญญาใช้เงิน และ หนี้สินตามสัญญาเช่าทางการเงินในระหว่างปี
ค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี
บริษัทโดยคณะกรรมการตรวจสอบได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สอบบัญชีโดยคำนึงถึงความอิสระ ความเหมาะสม การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ และการไม่มีความสัมพันธ์หรือมีส่วนได้เสียหรือรายการที่อาจก่อนให้เกิดมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท บริษัทย่อย ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว นอกจากนี้ คณะกรรมการตรวจสอบยังได้พิจารณากำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชีในแต่ละปีให้มีความเหมาะสมกับขอบเขตของการสอบบัญชี โดยคณะกรรมการตรวจสอบจะนำเสนอผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติเหมะสม พร้อมทั้ง จำนวนเงินค่าสอบบัญชี ให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณานำเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีและกำหนดจำนวนเงินค่าสอบบัญชีในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี
- ค่าตอบแทนผู้สอบบัญชี
บริษัทจ่ายค่าสอบบัญชี ให้แก่ สำนักงานอีวาย ผู้สอบบัญชีของบริษัทในรอบปีบัญชี 2562 เป็นเงินจำนวน 1,680,000 บาท
- ค่าบริการอื่นๆ
บริษัทและบริษัทย่อยไม่มีการใช้บริการอื่นๆ